ผ้าไตร เป็นชื่อเรียกผ้านุ่งผ้าห่มที่พระสงฆ์ใช้สอย หมายถึงผ้า 3 ผืน ซึ่งมีทั้งผ้านุ่งและผ้าห่ม อันได้แก่ สังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า) อุตราสงค์ (ผ้าจีวรสำหรับห่ม) และอันตรวาสก (ผ้าสบงสำหรับนุ่ง) เป็นปัจจัยหรือบริขารของพระสงฆ์อย่างหนึ่งในจำนวน 8 อย่าง
ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช ก็มีหลักฐานว่า ทรงใช้ผ้านุ่งห่มที่เรียกว่าจีวร ในช่วงต้นพุทธกาล พระภิกษุยังคงใช้ผ้าที่หาได้มาเย็บต่อๆกัน ไม่เป็นระเบียบ หรือบางครั้งได้รับถวายผ้าอย่างดีจากคหบดีก็มีการถูกลักขโมยเนื่องด้วยผ้าเป็นสิ่งที่หายากในสมัยพุทธกาล
ต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรนาของชาวมคธ จึงทรงดำริให้ตัดผ้าจีวร เป็นสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ มาต่อกัน จึงมีลักษณะเป็นผ้าที่เศร้าหมอง คือผู้อื่นมักไม่ต้องการไปตัดเย็บอีก เหมาะสมกับสมณะ ผ้าสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ ที่เย็บต่อกันนั้น ปรากฏลวดลายเป็นลายคันนา ออกแบบโดยพระอานนท์ หลังจากพระอานนท์ถวายจีวรที่ตัดแต่งแล้ว ให้ทอดพระเนตร พระพุทธองค์ทรงพอพระทัย และอนุญาตให้ใช้ ผ้า 3 ผืน คือ สังฆาฏิชั้นเดียว จีวร และสบง ต่อมาทรงอนุญาต ผ้าสังฆาฏิสองชั้น จีวร และสบง ทั้งนี้เพื่อให้พระสงฆ์ ใช้ป้องกันความหนาวเย็น และรับสั่งว่า ภิกษุไม่พึงมีจีวรมากกว่านี้
ส่วนประกอบของผ้าไตร จะมีผ้า 3 ชิ้น ตามความหมายของ ไตร ที่แปลว่า 3 นั่นคือมี จีวร, สบง และสังฆาฏิ
- จีวร เป็นผ้าที่ใช้สำหรับห่ม ที่พระท่านสวมครองไว้ เวลาประกอบศาสนกิจ
- สบง คือผ้าที่ใช้สำหรับนุ่ง เป็นผ้าผืนสี่เหลี่ยม
- อังสะ คล้ายเสื้อตัวในสวมเบี่ยงที่บ่าด้านหนึ่ง พระท่านจะสวมไว้ภายในตลอด
- สังฆาฏิ คือผ้าผืนใหญ่เหมือนจีวร ใช้ห่มซ้อนอีกชั้นป้องกันความหนาว แต่ในบ้านเรานิยมนำมาพับแล้ววางทาบที่บ่า อาจเรียกว่าผ้าพาดบ่า
ผ้าไตรแบ่งได้ 2 ชนิดหลัก คือ ผ้าไตรครองและผ้าไตรอาศัย
- ผ้าไตรครอง หรืออาจเรียกกว่า ไตรเต็ม ไตรครบชุดใช้สำหรับการบวชพระ โดยในส่วนประกอบของไตรครองจะมี 7 อย่าง ได้แก่
สังฆาฏิ ใช้ห่มซ้อนเวลาอากาศหนาว ปกติพระสงฆ์จะพับแล้วพาดไว้บนบ่า
จีวร ใช้สำหรับห่ม
สบงขันธ์ ใช้สำหรับนุ่ง
อังสะ ใช้สวมใส่เสมือนเสื้อคล้องไหล่เฉียงบ่าเปิดไหล่ซ้าย
ผ้ารัดอก ใช้รัดจีวรเวลาห่ม
ประคด ใช้รัดเอวเสมือนเข็มขัด
ผ้ารับประเคน ใช้รองกราบและรับของที่ญาติโยมประเคนของถวาย
- ผ้าไตรอาศัย อาจเรียกว่า ไตรแบ่ง เป็นชุดไตรที่มีส่วนประกอบเพียง 3 ชิ้น คือ จีวร สบง และอังสะ ใช้สำหรับผัดเปลี่ยนนั่นเองในชีวิตประจำวัน ไม่สามารถใช้ในพิธีบวชพระได้